วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การผลิตต้นกล้ากล้วยหอมทอง

การผลิตต้นกล้ากล้วยหอมทอง

ที่มาและความสำคัญ
กล้วยเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและมีสรรพคุณทางสมุนไพร สามารถรักษาโรคกระเพาะอาหาร รับประทานได้ทั้งผลสดและแปรรูป เป็นอาหารชนิดต่างๆได้หลากหลาย กล้วยที่เราคุ้นเคยส่วนใหญ่เป็นกล้วยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเช่น กล้วยน้ำว้า  กล้วยหอม กล้วยไข่

สำหรับพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกมีต้นกล้าไม่เพียงพอ ต้นกล้ามีขนาดแตกต่างกันมากทำให้การเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน ต้นกล้ามีการสะสมเชื้อโรคและแมลง ทำให้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอและมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ตลอดจนผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน ทำให้มีปัญหาในการจัดการแปลง จึงนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งของการขยายพันธุ์ มาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น


การปลูกและดูแลต้นกล้วยหอมทองเพื่อให้ได้ผลผลิตตามกำหนดเวลา

1. ต้นกล้ากล้วยหอมทองจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้จากการนำหน่ออ่อนมาฟอกให้ปราศจากเชื้อโรคและเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ภายใต้สภาพปลอดเชื้อ

2. ต้นกล้าที่ย้ายออกปลูกสภาพโรงเรือนที่มีความสูง 20-30 ซม. สามารถนำไปปลูกลงแปลงโดยขุดหลุมขนาด 50x50x50 ซม. และใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักรองพื้นโดยใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร

3. การใส่ปุ๋ยและพรวนดิน แบ่ง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 ใส่ปุ๋ย 16-16-16 และปุ๋ยคอกเมื่อลงแปลงปลูกได้หนึ่งเดือนและสามเดือน ทำให้ต้นสมบูรณ์ ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ย 13-13-21 เมื่อปลูกลงแปลงได้หกเดือน(กล้วยเริ่มออกปลี) เพื่อช่วยให้ผลดกและรสชาติหวานหอม

4. การให้น้ำควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะช่วง 1-4 เดือนแรก ถ้าเป็นการให้น้ำตามร่องควรให้อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง

5. การกำจัดวัชพืชและดูแลแปลงในช่วงที่ต้นกล้วยยังเล็ก ควรถางหญ้าหรือวัชพืชที่มาแย่งอาหารกล้วยและดูแลแปลงให้สะอาด อย่าให้เป็นสะสมของโรคและแมลง

ุ6. การตัดแต่งหน่อกล้วยหอมทอง เมื่อปลูกกล้วยไปได้ 5-6 เดือน ก่อนตกเครือกล้วยจะแตกหน่อออกมามาก ควรเลือกหน่อไว้แทนต้นแม่เดิมเพียง 2 หน่อแรก ควรเป็นหน่อที่อยู่ตรงข้ามของต้นเดิมซึ่งมีรากลึกและแข็งแรง

7. การป้องกันโรค โรคใบจุด มักจะเป็นช่วงที่ใบแก่หรือต้นเริ่มมีอายุ 5-6 เดือน จะระบาดมากในช่วงฤดูฝน การป้องกันตัดใบที่เป็นโรคออกไปจากแปลงหรือเผาทำลาย

8. การป้องกันแมลง แมลงมักจะระบาดระหว่างเปลี่ยนฤดู ได้แก่ปลายฝน ต้นหนาว และปลายหนาว ต้นร้อน หนอนปลอกกันกินใบและยอดอ่อน ควรหมั้นตรวจตราและตัดใบทิ้งหรือฉีดยาสมุนไพร

9. การป้องกันลม ถ้าลมแรง ทำให้ใบฉีกขาดมาก ต้นหักและล้มตายเป็นจำนวนมากถ้าพื้นที่ปลูกมีลมแรงประจำควรปลูกพืชใหญ่ป้องกันลมหรือใช้ไม้ค้ำต้น เพื่อป้องกันการโค่นล้ม

10. การคลุมผล ใช้ถุงพลาสติกคลุมผลกล้วย หลังจากปลีกล้วยยาวสุดเครือและตัดปลีทิ้ง ให้คลุมถุงได้ทันที(ประมาณ 2 สัปดาห์หลังออกปลี)

11. การเก็บเกี่ยว กรณีต้นกล้วยหอมทองที่ปลูกสมบูรณ์และมีการให้ปุ๋ยและน้ำที่เหมาะสมสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เมื่อปลูกประมาณ 8-10 เดือนหรือเมื่อผลแก่ประมาณ 70-80 %  บ่มแก๊สเป็นเวลาหนึ่งคืนเพื่อให้กล้วยสุก

ประโยชน์
1. ได้ต้นกล้ากล้วยหอมที่สะอาดปราศจากโรคและแมลง
2.สามรถปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเวลาใกล้เคียงและให้ผลผลิตต่อต้นได้มากขึ้น

รายชื่อผู้ประดิษฐ์
1. คุณมณฑา วงศ์มณีโรจน์
2. คุณรงรอง หอมนวล
3. คุณสุลักษณ์ แจ่มจำรัส

ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน  อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
โทรศัพท์ 034-351399, 034-281092
โทรสาร 034-351392
E-mail rdimow@ku.ac.th

ที่มา : เอกสารเผยแพร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น